วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ทฤษฎีจิตสังคม (Erikson) ขั้น 5 และ ขั้น 6

ขั้นที่ 5 อัตภาพหรือการรู้จักว่าตนเองเป็นเอกลักษณ์ การไม่รู้จักตนเองหรือสับสนในบทบาทใน สังคม (Ego Identity vs Role Confusion) อีริคสันกล่าวว่า เด็กในวัยนี้ที่มีอายุระหว่าง 12-18 ปี จะรู้สึกตนเองว่า มีความเจริญเติบโต โดยเฉพาะทางด้านร่างกายเหมือนกับผู้ใหญ่ทุกอย่าง ร่างกายเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีการเปลี่ยนแปลงทางเพศทั้ง หญิงและชาย เด็กวัยรุ่นจะมีความรู้สึกในเรื่องเพศและบางคนเป็นกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับพัฒนาการทางด้านสติปัญญา เด็กวัยรุ่นก็เริ่มคิดแบบผู้ใหญ่ ฉะนั้นเด็กวันรุ่นจะตั้งคำถาม ถามตัวเองว่า ฉันคือใคร (Who am I ?) และคิดว่าถ้าโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว จะประกอบอาชีพอะไร เด็กวัยรุ่นส่วนมากยังมีความสับสน และไม่แน่ใจ และอยากเป็นผู้ใหญ่ หรือบางครั้งก็อยากเป็นเด็ก อยากจะตัดสินใจทำอะไรเอง เวลาผู้ใหญ่ห้าม เด็กจะไม่พอใจ บางครั้งก็คิดว่าผู้ใหญ่ไม่ช่วยตักสิน  เด็กวัยนี้มักจะเป็นห่วงว่าคนอื่นคิดอย่างไรต่อตนเหมือนกับที่ตนคิดว่าตนคือใคร เด็กวัยรุ่นมีความเป็นห่วงว่าจะทำอะไรไม่ได้ และอยากจะทราบว่าทักษะต่างๆ ที่ตนประสบมาตั้งแต่เด็ก จะช่วยให้เขาเรียนหรือประกอบอาชีพที่เขาปรารถนาได้หรือไม่ เด็กวัยรุ่นมักจะมีความวิตกกังวลในใจกลัวว่าจะไม่เป็นที่ยอมรับของเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน เด็กจะจริงจังในการคบเพื่อน และค่อนข้างที่จะมีอุดมการณ์ของตนเอง ข้อสำคัญที่สุด เด็กวัยนี้ควรจะมีอัตมโนทัศน์และหาเอกลักษณ์ของตนเองได้ (Ego Identity) เพื่อที่จะได้มีความมั่นใจในตนเอง ไม่รู้ว่าตนจะทำอะไร หรือมีบทบาทอย่างไร อีริคสันเรียกว่า "Role Confusion” คือเป็นคนไม่มีหลักการของตัวเองไม่รู้ว่าตนเองต้องการอะไร ก็มักจะเลียนแบบผู้อื่น หรือใช้เวลานานกว่าจะพบว่าตนต้องการอะไรบางกรณีเด็กวัยรุ่นจะต้องการมีคนรักเพื่อจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความรู้สึก ซึ่งเป็นวิธีการที่จะช่วยให้ตนเข้าใจ และรู้ว่าตนคือใครนอกจากนี้มักจะเลียนแบบผู้อื่น ตามอย่างผู้อื่น ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุให้เข้ากับกลุ่มเด็กเกเร หรือพวกที่ก่ออาชญากรรมได้ ผู้ใหญ่บางครั้งก็มีส่วนทำให้เด็กวัยรุ่นมีอัตมโนทัศน์ทางลบ (Negative Self-concept) โดยการดุว่าและเรียกเด็กวัยรุ่นในทางไม่ดีต่างๆ ตัวอย่างเช่น บางครั้งเรียกลูกสาวว่า "โสเภณีเพราะลูกสาวมีเพื่อนชายมาก ลูกอาจจะมีความโกรธแค้น เลยทำตัวให้เป็นอย่างที่พ่อแม่เรียก เป็นต้น              
         อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเด็กวัยรุ่นมีความเจริญเติบโตทางสติปัญญาเท่าเทียมผู้ใหญ่สามารถจะคิดสิ่งที่เป็นนามธรรมได้ สามารถที่แก้ปัญญาหาโดยตั้งสมมติฐานและมีวิธีโดยใช้หลักปรนัยคิดหาเหตุผล ฉะนั้นถ้าหากพ่อแม่ และผู้ใหญ่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็ก แสดงให้เห็นว่ารักและหวังดี เด็กวัยนี้อาจจะฟังเหตุผลที่พ่อแม่อธิบาย

ขั้นที่ 6 ความใกล้ชิดผูกพัน ความอ้างว้างตัวคนเดียว (Intimacy vs Isolation) วัยนี้เป็นวัยผู้ใหญ่ ระยะต้น (Young Adulthood)เป็นวัยที่ทั้งชายและหญิงที่จะรู้จักตนเองว่า มีจุดมุ่งหมายในชีวิตอย่างไร เป็นวัยที่พร้อม ที่จะมีความสัมพันธ์ กับเพื่อนต่างเพศ ในฐานะเพื่อนสนิทที่จะเสียสละให้กันและกันได้ รวมทั้งสามารถยินยอมเห็นใจ ซึ่งกันและกัน คนในวัยนี้ ส่วนมากยังไม่อยาก ที่จะเชื่อมเอกลักษณ์(Fused Identity) กับใคร ชายหญิงที่แต่งงานกัน และสามารถเชื่อม เอกลักษณ์ จะไม่เพียงแต่มีความรักและสนิทสนม ในฐานะสามีและภรรยาเท่านั้น แต่หมายถึงการยอมรับเอกลักษณ์ (Identity) ของกันและกัน โดยไม่คิดว่าจะสูญเสียเอกลักษณ์ของตน ฉะนั้นถ้าแต่งงานก็จะอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ตรงข้ามกับผู้ที่ไม่สามารถเชื่อมเอกลักษณ์ มักจะจบชีวิตแต่งงานด้วยการหย่าร้าง
         
       ความใกล้ชิดผูกพันของวัยผู้ใหญ่ระยะต้น ไม่ได้หมายความว่า จะต้องเกิดระหว่างเพื่อนต่างเพศเท่านั้น การมีความใกล้ชิดผูกพัน กับเพื่อนเพศเดียวกัน ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก คนที่ไม่มีเพื่อนสนิทจะต้องอยู่คนเดียวอย่างอ้างว้างตัวคนเดียว ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา